top of page

รีวิว Punch Needle ปากกาปักผ้า

วันนี้บีขอวางเข็มถักไว้ชั่วคราว หันมาจับเข็มปักดูบ้างค่ะ

โดยเข็มปักที่บีจะสาธิตในวันนี้ มีชื่อว่า Punching Needle หรือปากกาปักผ้า เป็นอุปกรณ์ปักผ้าที่ใช้งานง่าย เพียงปักเข็มลงผ้าก็จะเกิดเส้นด้ายติดกับเนื้อผ้า โดยไม่ต้องแทงเข็มขึ้นลงเหมือนกับการปักมือ จึงช่วยลดเวลาและเพิ่มความเพลิดเพลินในงานปักมากยิ่งขึ้นค่ะ

เรามาดูกันก่อนค่ะ ว่าใน 1 ชุดของปากกาปักผ้า ประกอบด้วยอะไรบ้าง

  1. ด้ามเข็มปัก

  2. เข็ม 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ โดยขนาดหนึ่งติดมากับตัวเข็ม

  3. ร้อยด้ายจำนวน 2 ชิ้น

  4. กระดาษคู่มืออธิบายวิธีร้อยด้าย วิธีปัก และวิธีเปลี่ยนเข็ม

สำหรับขนาดของเข็มเลือกใช้ตามด้ายปักหรือไหมพรมที่เราจะใช้

วิธีการเปลี่ยนเข็ม ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

  1. ดึงฝาที่ปลายด้ามออก แล้วหมุดตัวล็อคให้หลวม จากนั้นดึงด้ามเข็มออก

  2. หมุนตัวเข็มและดึงออกจากด้าม

  3. ใส่เข็มขนาดที่ต้องการลงให้ตรงกับเดือย และหมุนเพื่อล็อคเข็ม โดยบีชอบให้ด้านปากฉลามอยู่ตรงข้ามกับตัวล็อคค่ะ

  4. ใส่เข็มเข้าไปในด้ามปากกา แล้วดันตัวล็อคในระดับตัวเลขทีต้องการ หมุนตัวล็อคให้แน่นและปิดฝา

โดยตัวเลขที่บนด้ามปากกา เป็นระดับความยาวของห่วงด้านหลังผ้าที่เราปัก ยิ่งตัวเลขมากห่วงด้านหลังจะยาวค่ะ

เนื่องด้วยงานปักจาก Punch Needle เราสามารถเลือกด้านหน้าหรือด้านหลังของงานปักเป็นด้านถูกก็ได้ ขึ้นอยู่กับแบบที่เราต้องการ หากต้องการให้ด้านหลังเป็นด้านถูก การปรับตัวเลขตรงด้ามปากกา ก็จะเห็นผลชัด ห่วงที่ได้ก็จะสั้นยาวตามที่เราปรับตัวเลขค่ะ

วิธีการร้อยด้าย

  1. ใส่ที่ร้อยด้ายเข้าทางปลายแหลมของเข็ม จนทะลุออกช่องด้านบนของฝาปิด

  2. ใส่ด้ายในช่องร้อยด้าย

  3. ดึงที่ร้อยด้ายออก

  4. ใส่ที่ร้อยด้ายในช่องปลายเข็ม สอดปลายด้ายในช่องร้อยด้าย แล้วจึงดึงที่ร้อยด้ายออก

  5. ดึงด้ายให้ปลายเหลือสั้นลง ตอนนี้ด้ายก็จะอยู่ในเข็ม พร้อมสำหรับการปักแล้วค่ะ

ขั้นตอนการปัก

ก่อนอื่นเตรียมผ้าที่ร่างแบบใส่ในสะดึงให้ตึง โดยผ้าที่ตึงจะทำให้ปักได้ง่ายค่ะ

วิธีปักลายเส้น (Back Stitch )

  1. แทงเข็มลงที่ผ้า ดึงปลายด้ายลงด้านล่าง แล้วดึงเข็มขึ้นให้ปลายเข็มอยู่ระดับผ้า ไม่ต้องดึงเข็มขึ้นสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดห่วงบนผ้า และอาจทำให้ห่วงด้านหลังหลุดได้

  2. แทงเข็มลงในจุดต่อไป

  3. ดึงเข็มขึ้น ลากเข็มแล้วแทงเข็มลง

  4. เมื่อปักเสร็จแล้วตัดด้ายที่ด้านหลังให้สูงเท่ากับห่วงด้านหลัง และตัดด้ายตอนเริ่มด้วยค่ะ

ข้างหลังผ้าจะเป็นห่วงฟู เราจึงสามารถปักงานแบบนูนมีมิติคล้ายกับพรมได้ด้วยค่ะ

ถ้าเราต้องการปักแบบห่วง ด้านถูกของงานปักก็จะเป็นด้านหลัง แต่ถ้าจะปักลายเส้น ด้านหน้าจะเป็นด้านถูกค่ะ

สำหรับผ้าที่เหมาะสำหรับปากกาปักผ้า คือผ้าที่มีเนื้อแน่นและมีความแข็งเล็กน้อย เนื่องจากสามารถยึดเก็บตัวห่วงจากการปักได้ดี แต่ถ้าใช้ผ้าเนื้อบางโปร่ง เวลาปักจะทำให้เนื้อผ้าขาดและไม่สามารถยึดลายปักกับตัวเนื้อผ้าได้ดีค่ะ

เวลาปักหันหัวปากฉลามด้านที่ตัดเฉียง ไปใสทิศทางที่เราต้องการเดินเข็มค่ะ

ถ้าดึงด้ายขึ้นยาวเกินไปแบบนี้ สามารถแก้ได้ด้วยการดึงเส้นด้ายกลับ การดึงด้ายยาวเกิน จะทำให้เกิดห่วงที่ด้านหน้าได้ ทำให้ลายปักไม่เรียบค่ะ

เวลาปักผ้าควรตึงอยู่ตลอด จะทำให้การแทงเข็มได้ง่ายค่ะ อาจต้องดึงผ้าให้ตึงระหว่างการปักด้วยค่ะ

ถ้าเราต้องการปักแบบห่วงหรือปักฟู ก็ปรับตัวเลขบนด้ามตามความยาวที่ต้องการ โดยถ้าต้องการห่วงยาวก็ปรับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น เนื่องจากเข็มยาวขึ้นนั่นเองค่ะ

การลายปักทึบ (Satin stitch)

ก็ใช้วิธีเดียวกันกับการปักลายเส้น เพียงแต่เว้นช่องว่างระหว่างการปักมากขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 5 mm ทั้งการปักลายเส้นและปักทึบ ฝั่งที่เราปักจะเป็นด้านถูกของงานค่ะ

การปักฟูหรือปักแบบห่วง (Loop)

ทำได้ด้วยการปักลายเส้น แต่เราจะเลือกฝั่งด้านหลังของงานที่เป็นห่วงฟูเป็นด้านถูกค่ะ

ถ้าต้องการให้ฟูมากก็ปรับให้ห่วงยาวด้วยการปรับตัวเลขบนด้ามเข็มค่ะ

ขอให้ทุกคนสนุกกับการปักผ้า พบกันใหม่ในบทความต่อไป

สวัสดีค่ะ

Comentários