top of page

พบ 322 รายการสำหรับ ""

  • สนุกถักเชือกนิตติ้งได้ง่าย ๆ กับ French Knitter

    French Knitter หรือ ที่ถักเชือกนิตติ้ง เป็นหนึ่งในอุปกรณ์งานฝีมือที่ใช้งานง่าย เชือกถักที่ได้สามารถดัดแปลงเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ได้มากมาย วันนี้เรามาดูวิธีใช้งานกันค่ะ French Knitter มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น Corking, Knitting Nancy, Spool Knitter หรือ Tomboy Knitting ตัวด้ามจับมีทั้งแบบไม้และแบบพลาสติก จำนวนหมุดด้านบนก็มีทั้งแบบ 4, 5, 6 และ 8 หมุด ซึ่งทั้งหมดต่างใช้วิธีถักเดียวกันค่ะ สำหรับไหมพรมที่เลือกใช้ ใช้ได้ทั้งไหมเส้นเล็กและเส้นใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเส้นไหมต้องไม่ใหญ่เกินความสูงของหมุด และไม่ใหญ่เกินช่องตรงกลางของด้ามจับค่ะ นอกจากจะใช้ไหมพรมถักแล้ว ยังอาจเลือกใช้ลวด, ด้ายปัก, เส้นหนัง, ริบบิ้น หรือ เชือกหนัง ก็ได้ค่ะ WATCH NOW:คลิปวีดีโอแนะนำวิธีใช้ French Knitter ที่ถักเชือกนิตติ้ง วิธีถักเชือกนิตติ้ง เริ่มต้นด้วยการใส่ปลายไหมเข้าไปใสช่องตรงกลาง ให้ปลายไหมออกมาด้านล่างยาวประมาณ 10 นิ้ว โดยอาจใช้เข็มโครเชต์ช่วยเกี่ยวไหมเพื่อให้ไหมผ่านช่องได้ง่ายขึ้น พันไหมรอบหมุดในทิศตามเข็มนาฬิกา โดยไม่ต้องพันแน่นมาก เมื่อพันครบทุกหมุด จับไหมไว้ด้านนอกหมุด ในทิศทวนเข็มนาฬิกา ใช้เข็มเกี่ยวไหมเส้นล่างยกข้ามไหมเส้นบน ทำซ้ำให้ครบทุกหมุด ดึงปลายไหมเพื่อให้ลายของแถวแรกแน่น ถักต่อไปเรื่อย ๆ จนได้ความยาวของเชือกตามต้องการ วิธีปิดงาน ตัดไหมเหลือปลายยาวประมาณ 10 นิ้ว สอดปลายไหมในเข็มเย็บไหมพรม แทงเข็มที่หมุดถัดไปนับจากหลักสุดท้ายที่ถัก โดยแทงเข็มจากด้านล่างขึ้นบน แล้วปลดห่วงออกจากหมุด ทำซ้ำด้วยวิธีเดียวกันให้ครบทุกหมุด ดึงไหมเพื่อรูดปิดรูค่ะ เชือกที่ได้สามารถประยุกต์เป็นชิ้นงานต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น ทำเป็นสายกระเป๋า เชือกผูกรองเท้า ที่รองแก้วน้ำ ดอกไม้ โบว์ ตุ๊กตา พรมเช็ดเท้า หรือจะถักพร้อมลูกปัดทำเป็นเครื่องประดับก็ได้ค่ะ ในโอกาสต่อ ๆ ไป บีจะสาธิตวิธีทำชิ้นงานจากเชือกถักนิตติ้ง ฝากติดตามด้วยนะคะ ขอให้ทุกคนสนุกกับการถักเชือกนิตติ้ง สวัสดีค่ะ

  • DIY โดนัทรัดผมแสนง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้!

    โดนัทรัดผมจากเศษผ้า ทั้งทำง่าย และใช้อุปกรณ์น้อย งานนี้พลาดไม่ได้แล้วค่ะ วัสดุอุปกรณ์ 1. ผ้าขนาด 46 x 8.5 cm 2. ยางยืด ยาว 8 นิ้ว 3. เข็มกับด้าย/ จักรเย็บผ้า 4. กรรไกร 5. เข็มหมุด 6. เข็มกลัด วิธีทำ ตัดผ้าความยาว 46 x 8.5 cm พับผ้าตามยาว ให้ด้านถูกเข้าหากัน กลัดเข็มหมุดให้ขอบผ้าติดกัน ตลอดความยาวผ้า เย็บผ้าติดกันตลอดแนวยาวผ้า กลับผ้าให้ด้านถูกออกด้านนอก โดยอาจใช้กรรไกรช่วยในการกลับผ้า ตัดยางยืดยาว 8 นิ้ว ใช้เข็มกลัดช่วยสอดยางยืด จับปลายยางยืดด้วยมือข้างหนึ่ง มัดปลายยางยืดติดกัน เย็บปลายผ้าติดกัน WATCH NOW: คลิปวีดีโอสาธิตวิธีทำโดนัทรัดผมแสนง่าย พบกันใหม่ในบทความต่อไป DIY ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • บทที่ 2 วิธีถักอัฟกันลายเพิร์ล

    ในบทเรียนแรกเราได้เรียนรู้พื้นฐานของอัฟกัน ทั้งวิธีจับเข็ม วิธีจับไหม วิธีถักลายถักอัฟกันนิต และการปลดห่วงเมื่องานเสร็จ ในบทเรียนที่ 2 นี้ เรามาทำความรู้กับลายถักที่ 2 อัฟกันเพิร์ล ไปพร้อม ๆ กับการถักชิ้นงานง่าย ๆ ที่โบว์ถักอัฟกันเพิร์ลกันค่ะ อัฟกันเพิร์ล เป็นลายถักที่ดูคล้ายกับลายเพิร์ลของงานนิตติ้ง โดยลายถักนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า ลาย TPS (Tunisian Purl Stitch) มาดูวิธีถักกันเลยค่ะ วิธีเริ่มต้นงาน ทำปมไหมบนไม้อัฟกัน แล้วถักโซ่ฐาน จำนวนตามต้องการ ใน 1 แถวของลายเพิร์ล ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน เช่นเดียวกับอัฟกันลายนิต คือขั้นตอนเกี่ยวไหมใส่เข็ม และ ขั้นตอนปลดห่วง ค่ะ แถวที่ 1 ขั้นตอนแรก เกี่ยวไหมใส่เข็ม แทงเข็มที่โซ่ที่ 2 นับจากเข็ม เกี่ยวไหมผ่านโซ่ขึ้นมา แทงเข็มที่โซ่ถัดไป เกี่ยวไหมผ่านโซ่ขึ้นมา ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนจบแถว จำนวนห่วงบนเข็มจะเท่ากับจำนวนโซ่เริ่มต้นแถวที่เราถักไว้ ขั้นตอนที่ 2 ปลดห่วง พันเข็ม 1 ครั้ง แล้วเกี่ยวไหมผ่าน 1 ห่วงแรก (ได้โซ่ 1) เกี่ยวไหมผ่านทีละ 2 ห่วง จนจบแถว เมื่อจบแถวจะเหลือ 1 ห่วงบนเข็ม แถวที่ 2 และแถวต่อ ๆ ไป ขั้นตอนแรก เกี่ยวไหมใส่เข็ม เอาไหมมาไว้หน้าเข็ม ซึ่งต่างจากอัฟกันลายนิตที่เส้นไหมพรมอยู่ด้านหลังเข็มค่ะ แทงเข็มที่เส้นไหมแนวตั้งเส้นที่สอง เกี่ยวไหมดึงผ่านหลักขึ้นมา ก็จะได้ลายเพิร์ล 1 หลัก อาจดึงเข็มขึ้นเพื่อให้ลายได้ที่เล็กลง และดึงไหมเพื่อลดขนาดของห่วงบนเข็มค่ะ ทำซ้ำขั้นตอนที่ 3 ตลอดทั้งแถว ขั้นตอนที่ 2 ปลดห่วง วิธีทำเหมือนกับปลดห่วงของแถวแรกเลยค่ะ วิธีปลดห่วงเมื่องานเสร็จ หรือการถักเลื่อนห่วง (Slip Stitch Bind Off) : เมื่อถักได้ชิ้นงานขนาดตามต้องการ เราก็จะถักปลดห่วงดังนี้ค่ะ แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นที่สอง, เกี่ยวไหมผ่านสองห่วง เหลือ 1 ห่วงบนเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่เหมือนกับการถักเลื่อนห่วงในโครเชต์ค่ะ แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นเส้นถัดไป, เกี่ยวไหมผ่านสองห่วง เหลือ 1 ห่วงบนเข็ม ทำซ้ำทั้งแถว ตัดไหม และดึงผ่านห่วงสุดท้าย WATCH NOW: คลิปวิดีโอสาธิตวิธีถักอัฟกันลายเพิรล์ พร้อมวิธีทำโบว์ถัก WATCH NOW: คลิปวิดีโอสาธิตวิธีถักอัฟกันลายเพิรล์ พร้อมวิธีทำโบว์ถักสำหรับผู้ถนัดมือซ้าย หวังว่าเพื่อน ๆ จะสนุกกับการถักอัฟกัน พบกันใหม่ในบทเรียนต่อไป อัฟกัน...ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • บทที่ 2 สามวิธีขึ้นต้นงานถักตุ๊กตาโครเชต์แบบวงกลม

    การเริ่มต้นถักตุ๊กตาโครเชต์มักเริ่มจากการถักรูปวงกลมหรือรูปวงรี แล้วถักแถวต่อไปวนจนได้ขนาดที่ต้องการ วันนี้เราจะมาดูวิธีขึ้นต้นงานถักรูปวงกลมกันค่ะ โดยมี 3 วิธีให้เพื่อน ๆ เลือกใช้ โดยจะขอเริ่มอธิบายด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดก่อนนะคะ 1. การขึ้นต้นงานโดยการถักโซ่ (Start with a chain) วิธีนี้ง่ายที่สุดเลยค่ะ แค่ถักโซ่ 2 แล้วเริ่มถักแถวแรกในโซ่ที่ 2 จากเข็ม จากรูปเป็นการถักลาย X จำนวน 6 ครั้งลงในโซ่ค่ะ จากนั้นดึงปลายไหมเพื่อรูดปิดรูตรงกลางค่ะ วิธีนี้ถึงจะง่ายแต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียอยู่ที่ รูที่เรารูดปิดไว้ มันไม่ค่อยแน่นหนา เวลาที่ใช้งานถักไปนาน ๆ ผ่านการซักบ่อย ๆ รูนั้นก็อาจขยาดใหญ่ให้ทรมานใจได้ค่ะ แต่ก็มีวิธีแก้ปัญหาอยู่เหมือนกันนะคะ ด้วยการเก็บปลายไหมตอนเริ่มต้นงานไว้ในชิ้นงานให้แน่นหนา แค่นี้ปัญหานั้นก็หมดไปค่ะ 2. การขึ้นต้นงานโดยการพันไหมเป็นวง 1 รอบ (Start with the magic adjustable ring) วิธีนี้และวิธีที่ 3 เป็นวิธีที่นักถักตุ๊กตาโครเชต์มักจะเลือกใช้ค่ะ 1. พาดไหมบนนิ้วชี้ ในมือข้างที่ไม่ถนัด 2. พันไหมรอบนิ้วชี้ 1 รอบ 3. ถอดห่วงออกมาจากนิ้วชี้ และจับไว้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วกลาง สอดเข็มลงในวงกลมนั้น 4. พันไหมแล้วดึงผ่านวงกลมนั้น 5. ถักโซ่ 1 ไม่นับโซ่นี้เป็นหลักแรก 6. ถัก x แรกในห่วง 7. ถัก X ตามจำนวนที่แพทเทิร์นกำหนด จากรูปถัก X จำนวน 6 ครั้งลงในห่วง 8. ดึงปลายไหมเพื่อปิดรูห่วง 9. เป็นภาพที่รูดปิดห่วงวงกลมแล้ว วิธีนี้ก็ยังไม่แน่นหนาเหมือนวิธีแรกค่ะ แต่ก็ง่ายกว่าวิธีสุดท้ายค่ะ 3. การขึ้นต้นงานโดยการพันไหมเป็นวง 2 รอบ (Start with a double ring) เป็นวิธีที่ยากที่สุดค่ะ แต่ก็ทำให้การขึ้นต้นงานถักตุ๊กตาแน่นหนาที่สุดค่ะ จากการเริ่มต้นด้วยการพันไหม 2 รอบ ทำให้วงกลมขึ้นต้นงานปิดแน่นไม่หลุดโดยไม่จำเป็นต้องเก็บปลายไหมที่เหลือจากการขึ้นต้นงานเลยล่ะค่ะ สรุปว่าถึงจะดูยุ่งยากแต่ก็คุ้มสำหรับการหัดทำค่ะ 1. พาดไหมบนนิ้วชี้ 2. พันไหมรอบนิ้วชี้ 2 รอบ 3. ถอดห่วงออกมาจากนิ้วชี้ และจับไว้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วกลาง สอดเข็มลงในวงกลมนั้น 4. พันไหม 5. ดึงไหมผ่านห่วง 6. ถักโซ่ 1 ไม่นับโซ่นี้เป็นหลักแรก 7. ถัก x แรกในห่วง 8. ถัก X ตามจำนวนที่แพทเทิร์นกำหนด จากรูปถัก X จำนวน 6 ครั้งลงในห่วง 9. ดึงปลายไหมเพื่อดูว่าห่วงเส้นไหนขยับ 10. ดึงห่วงที่ขยับนั้นให้อีกห่วงหนึ่งปิดสนิท 11.ดึงปลายไหมเพื่อปิดห่วงที่เหลือ 12.เป็นภาพที่รูดปิดห่วงวงกลมแล้ว แรก ๆ อาจจะสับสนกับการขึ้นต้นงานด้วยวิธีนี้ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้นะคะ ฝึกบ่อย ๆ เดี่๋ยวก็คล่องเองค่ะ WATCH NOW: คลิปวีดีโอสาธิตการขึ้นต้นชิ้นงานทั้ง 3 แบบ พบกันใหม่ในบทความต่อไป โครเชต์.....ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ เครดิต : engsidrun.spire.ee mygurumi.blogspot.com หนังสือโครเชต์ตุ๊กตาน่ารัก โดย อาจารย์สายใจ เจริญรื่น

  • DIY ยางรัดผมหูกระต่าย ไอเท็มน่ารักแบบง่าย ๆ

    ชิ้นงานแสนง่าย ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ กับ ยางรัดผมหูกระต่าย ใช้แค่เศษผ้าสีตามชอบกับยางรัดผมเองค่ะ เวลาทำก็ใช้ไม่นาน แป๊บๆ ก็ได้ยางรัดผมน่ารักไว้ใช้ หรือไว้เป็นของขวัญ หรือไว้วางขายก็ได้ค่ะ วัสดุอุปกรณ์ 1. เศษผ้าสีตามชอบ 2. ยางรัดผม 3. เข็มกับด้าย/ จักรเย็บผ้า 4. กรรไกร 5. เข็มหมุด วิธีทำ 1. ตัดผ้าเป็นรูปทรงตามภาพนี้ จำนวน 2 ชิ้น 2. กลัดเข็มหมุดให้ผ้าที่ตัดไว้ 2 ชิ้นติดกัน โดยประกบด้านถูกเข้าหากัน 3. เย็บริมของผ้าทั้งสองชิ้นติดกัน โดยเหลือช่องว่างตรงกลางไว้ประมาณ 4 cm สำหรับกลับผ้า 4. กลับผ้าให้ด้านถูกออกข้างนอก และสอยปิดช่องว่างที่เว้นไว้ 5. มัดผ้าที่ได้ติด ติดกับยางรัดผม เสร็จแล้วค่าาาาา ยางรัดผมหูกระต่าย ความน่ารักแบบง่าย ๆ ที่ ใคร ๆ ก็ทำได้ พบกันใหม่ในบทความต่อไป DIY ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • รีวิว Punch Needle ปากกาปักผ้า

    วันนี้บีขอวางเข็มถักไว้ชั่วคราว หันมาจับเข็มปักดูบ้างค่ะ โดยเข็มปักที่บีจะสาธิตในวันนี้ มีชื่อว่า Punching Needle หรือปากกาปักผ้า เป็นอุปกรณ์ปักผ้าที่ใช้งานง่าย เพียงปักเข็มลงผ้าก็จะเกิดเส้นด้ายติดกับเนื้อผ้า โดยไม่ต้องแทงเข็มขึ้นลงเหมือนกับการปักมือ จึงช่วยลดเวลาและเพิ่มความเพลิดเพลินในงานปักมากยิ่งขึ้นค่ะ เรามาดูกันก่อนค่ะ ว่าใน 1 ชุดของปากกาปักผ้า ประกอบด้วยอะไรบ้าง ด้ามเข็มปัก เข็ม 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ โดยขนาดหนึ่งติดมากับตัวเข็ม ร้อยด้ายจำนวน 2 ชิ้น กระดาษคู่มืออธิบายวิธีร้อยด้าย วิธีปัก และวิธีเปลี่ยนเข็ม สำหรับขนาดของเข็มเลือกใช้ตามด้ายปักหรือไหมพรมที่เราจะใช้ เข็มขนาดเล็ก สำหรับด้ายปัก 3 เส้นย่อย เข็มขนาดกลาง สำหรับด้ายปัก 1 เส้น (6 เส้นย่อย), ด้ายซัมเมอร์เบอร์ 16, เบอร์ 20 เข็มขนาดใหญ่ สำหรับไหมพรมขนาด 4 ply เช่น ไหมพรมอีเกิล ดาหลา วิธีการเปลี่ยนเข็ม ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ ดึงฝาที่ปลายด้ามออก แล้วหมุดตัวล็อคให้หลวม จากนั้นดึงด้ามเข็มออก หมุนตัวเข็มและดึงออกจากด้าม ใส่เข็มขนาดที่ต้องการลงให้ตรงกับเดือย และหมุนเพื่อล็อคเข็ม โดยบีชอบให้ด้านปากฉลามอยู่ตรงข้ามกับตัวล็อคค่ะ ใส่เข็มเข้าไปในด้ามปากกา แล้วดันตัวล็อคในระดับตัวเลขทีต้องการ หมุนตัวล็อคให้แน่นและปิดฝา โดยตัวเลขที่บนด้ามปากกา เป็นระดับความยาวของห่วงด้านหลังผ้าที่เราปัก ยิ่งตัวเลขมากห่วงด้านหลังจะยาวค่ะ เนื่องด้วยงานปักจาก Punch Needle เราสามารถเลือกด้านหน้าหรือด้านหลังของงานปักเป็นด้านถูกก็ได้ ขึ้นอยู่กับแบบที่เราต้องการ หากต้องการให้ด้านหลังเป็นด้านถูก การปรับตัวเลขตรงด้ามปากกา ก็จะเห็นผลชัด ห่วงที่ได้ก็จะสั้นยาวตามที่เราปรับตัวเลขค่ะ วิธีการร้อยด้าย ใส่ที่ร้อยด้ายเข้าทางปลายแหลมของเข็ม จนทะลุออกช่องด้านบนของฝาปิด ใส่ด้ายในช่องร้อยด้าย ดึงที่ร้อยด้ายออก ใส่ที่ร้อยด้ายในช่องปลายเข็ม สอดปลายด้ายในช่องร้อยด้าย แล้วจึงดึงที่ร้อยด้ายออก ดึงด้ายให้ปลายเหลือสั้นลง ตอนนี้ด้ายก็จะอยู่ในเข็ม พร้อมสำหรับการปักแล้วค่ะ คลิปวีดีโอแนะนำ Punch Needle พร้อมเทคนิคการปักผ้า ขั้นตอนการปัก ก่อนอื่นเตรียมผ้าที่ร่างแบบใส่ในสะดึงให้ตึง โดยผ้าที่ตึงจะทำให้ปักได้ง่ายค่ะ วิธีปักลายเส้น (Back Stitch ) แทงเข็มลงที่ผ้า ดึงปลายด้ายลงด้านล่าง แล้วดึงเข็มขึ้นให้ปลายเข็มอยู่ระดับผ้า ไม่ต้องดึงเข็มขึ้นสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดห่วงบนผ้า และอาจทำให้ห่วงด้านหลังหลุดได้ แทงเข็มลงในจุดต่อไป ดึงเข็มขึ้น ลากเข็มแล้วแทงเข็มลง เมื่อปักเสร็จแล้วตัดด้ายที่ด้านหลังให้สูงเท่ากับห่วงด้านหลัง และตัดด้ายตอนเริ่มด้วยค่ะ ข้างหลังผ้าจะเป็นห่วงฟู เราจึงสามารถปักงานแบบนูนมีมิติคล้ายกับพรมได้ด้วยค่ะ ถ้าเราต้องการปักแบบห่วง ด้านถูกของงานปักก็จะเป็นด้านหลัง แต่ถ้าจะปักลายเส้น ด้านหน้าจะเป็นด้านถูกค่ะ สำหรับผ้าที่เหมาะสำหรับปากกาปักผ้า คือผ้าที่มีเนื้อแน่นและมีความแข็งเล็กน้อย เนื่องจากสามารถยึดเก็บตัวห่วงจากการปักได้ดี แต่ถ้าใช้ผ้าเนื้อบางโปร่ง เวลาปักจะทำให้เนื้อผ้าขาดและไม่สามารถยึดลายปักกับตัวเนื้อผ้าได้ดีค่ะ เวลาปักหันหัวปากฉลามด้านที่ตัดเฉียง ไปใสทิศทางที่เราต้องการเดินเข็มค่ะ ถ้าดึงด้ายขึ้นยาวเกินไปแบบนี้ สามารถแก้ได้ด้วยการดึงเส้นด้ายกลับ การดึงด้ายยาวเกิน จะทำให้เกิดห่วงที่ด้านหน้าได้ ทำให้ลายปักไม่เรียบค่ะ เวลาปักผ้าควรตึงอยู่ตลอด จะทำให้การแทงเข็มได้ง่ายค่ะ อาจต้องดึงผ้าให้ตึงระหว่างการปักด้วยค่ะ ถ้าเราต้องการปักแบบห่วงหรือปักฟู ก็ปรับตัวเลขบนด้ามตามความยาวที่ต้องการ โดยถ้าต้องการห่วงยาวก็ปรับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น เนื่องจากเข็มยาวขึ้นนั่นเองค่ะ การลายปักทึบ (Satin stitch) ก็ใช้วิธีเดียวกันกับการปักลายเส้น เพียงแต่เว้นช่องว่างระหว่างการปักมากขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 5 mm ทั้งการปักลายเส้นและปักทึบ ฝั่งที่เราปักจะเป็นด้านถูกของงานค่ะ การปักฟูหรือปักแบบห่วง (Loop) ทำได้ด้วยการปักลายเส้น แต่เราจะเลือกฝั่งด้านหลังของงานที่เป็นห่วงฟูเป็นด้านถูกค่ะ ถ้าต้องการให้ฟูมากก็ปรับให้ห่วงยาวด้วยการปรับตัวเลขบนด้ามเข็มค่ะ ขอให้ทุกคนสนุกกับการปักผ้า พบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีค่ะ

  • บทที่ 1 วิธีจับเข็ม จับไหม และวิธีถักอัฟกันนิต

    โครเชต์อัฟกัน (Afghan Crochet) หรือ Tunisian Crochet เป็นงานโครเชต์ประเภทหนึ่งที่ถักด้วยเข็มเฉพาะที่เรียกว่า ไม้อัฟกัน มีลักษณะผสมผสานระหว่างเข็มโครเชต์และไม้นิต คือที่ปลายด้านหนึ่งมีตะขอคล้ายกับเข็มโครเชต์ แต่ด้ามเข็มมีขนาดที่ยาวกว่า และมีหัวปิดตรงปลายเข็มซึ่งดูคล้ายกับไม้นิต การถักอัฟกันมีลักษณะการถักที่คล้ายคลึงทั้ง โครเชต์และนิตติ้ง คือ ถักด้วยเข็ม 1 เล่มคล้ายกับโครเชต์ แต่มีการเกี่ยวไหมใส่เข็มหลายห่วง และมีการปลดห่วงที่คล้ายกับนิตติ้ง สำหรับใครที่ไม่ถนัดกับกับการนิตติ้ง ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ บีขอรับรองว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานนิตติ้ง ก็สามารถถักอัฟกันได้อย่างแน่นอนค่ะ สำหรับการเลือกใช้ไม้อัฟกัน ควรเลือกเข็มใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างน้อย 2 เบอร์ เมื่อเทียบกับการถักโครเชต์ปกติ เช่น ไหมพรม 4 ply ถ้าปกติเราใช้เข็มโครเชต์ขนาด 2.5 mm แต่พอถักอัฟกัน ควรใช้เข็มขนาด 3.5 mm เนื่องจากลักษณะของการถักอัฟกันจะได้ชิ้นงานที่แน่นกว่าการถักโครเชต์ค่ะ สำหรับบทที่ 1 นี้ เราจะเริ่มด้วย วิธีจับไม้อัฟกันวิธีจับไหมพรม วิธีขึ้นต้นงาน วิธีถักอัฟกันนิต (Tunisian Simple Stitch - TSS) และวิธีปลดห่วงเมื่อถักงานเสร็จค่ะ สิ่งที่ต้องเตรียมได้แก่ ไม้อัฟกันแบบตรง โดยจะเลือกใช้แบบไม้ไผ่ หรือ อลูมิเนียมก็ได้ โดยบีใช้ขนาด 5.00 mm ค่ะ และใช้ไหมพรมเส้นใหญ่ โดยบีใช้ไหมพรมวีนัสวินนิดค่ะ สำหรับเข็มอัฟกันประเภทอื่น ๆ เราจะทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กับการถักชิ้นงานที่เหมาะสมกับเข็มประเภทนั้น ๆ ในโอกาสต่อไปค่ะ วิธีจับเข็มอัฟกัน มาเริ่มที่วิธีจับเข็มก่อนนะคะ โดยเราจะคว่ำมือลงให้นิ้วโป้งอยู่ด้านข้างของเข็ม นิ้วชี้อยู่ด้านบน ส่วนนิ้ว ที่เหลือประคองเข็มไว้ค่ะ การจับเข็มอัฟกันมักจะไม่นิยมจับแบบดินสอเหมือนกับโครเชต์ เนื่องจากนอกจากจะไม่ถนัดมือแล้ว ยังทำให้เมื่อยมือได้ง่ายค่ะ วิธีจับไหมพรม บีใช้วิธีสอดไหมระหว่างนิ้วนางกับนิ้วก้อย แล้วพาดไหมที่นิ้วชี้ จับไหมด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วกลางค่ะ แต่เพื่อน ๆ ก็อาจเลือกวิธีจับไหมแบบอื่นที่ถนัดก็ได้ค่ะ ในการถักอัฟกันใน 1 แถว จะประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ การเกี่ยวห่วงใส่เข็ม ซึ่งจะถักจากขวาไปซ้าย และ การปลดห่วงที่จะถักจากซ้ายไปขวา สำหรับลายถักแรกที่เราจะเรียนกันในวันนี้ ก็คือ ลายอัฟกันนิต นอกจากเป็นลายถักที่ง่ายแล้ว ยังเป็นลายถักที่นิยมใช้บ่อยที่สุดค่ะ วิธีถักอัฟกันนิต (Tunisian Simple Stitch - TSS) วิธีขึ้นต้นงาน เราจะขึ้นต้นงานด้วยการทำปมไหมแล้วถักโซ่ฐานค่ะ โดยวิธีทำปมไหมและการถักโซ่จะเหมือนกับการถักโครเชต์เลยค่ะ แถวที่ 1 ขั้นตอนแรกเราจะเกี่ยวไหมใส่เข็มค่ะ (Forward Pass) แทงเข็มที่โซ่ที่ 2 นับจากเข็ม โดยเราอาจแทงเข็มใต้เส้นไหมบนสุด เหมือนกับที่นิยมในการถัก โครเชต์ หรือ อาจพลิกโซ่ แล้วแทงเข็มใต้เส้นไหมด้านหลังของโซ่ก็ได้ค่ะ โดยบีเลือกแทงเข็มใต้เส้นไหมด้านหลังค่ะ เนื่องจากด้านล่างของงานจะได้ลูกโซ่เหมือนกับด้านบนของชิ้นงานหลังจากปลดห่วงเมื่อถักงานเสร็จเลยค่ะ เกี่ยวไหมผ่านโซ่ขึ้นมา แล้วเหลือห่วงไว้บนเข็ม ไม่ต้องเกี่ยวไหมผ่านห่วงเหมือนกับการถัก คธ ในโครเชต์ค่ะ แทงเข็มที่โซ่ถัดไป เกี่ยวไหมผ่านโซ่ขึ้นมา ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนจบแถว จำนวนห่วงบนเข็มจะเท่ากับจำนวนโซ่เริ่มต้นแถวที่เราถักไว้ ซึ่งบีถักโซ่ไว้ 10 โซ่ จำนวนห่วงก็จะได้ 10 ห่วงค่ะ จากนั้นก็จะเข้าสู้ขั้นตอนที่ 2 ของแถวที่ 1 คือการปลดห่วง (Return Pass) ซึ่งจะถักจากซ้ายไปขวาค่ะ พันเข็ม 1 ครั้ง แล้วเกี่ยวไหมผ่าน 1 ห่วงแรก (ได้โซ่ 1) เกี่ยวไหมผ่านทีละ 2 ห่วง จนจบแถว เมื่อจบแถวจะเหลือ 1 ห่วงบนเข็ม แถวที่ 2 และแถวต่อ ๆ ไป ขั้นตอนเกี่ยวห่วงใส่เข็ม แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งค่ะ โดยเริ่มแทงเข็มที่เส้นไหมเส้นที่สอง เส้นที่ 1 เราจะข้ามไป แล้วเกี่ยวไหมผ่านขึ้นมา จะได้ 2 ห่วง แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นต่อไปแล้วเกี่ยวไหมผ่านขึ้นมา ทำซ้ำทั้งแถว ที่หลักสุดท้ายอาจแทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นเดียว หรือ จะแทงเข็มใต้ไหมสองเส้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบ ขั้นตอนที่ 2 ของแถวที่ 2 คือการปลดห่วงค่ะ เกี่ยวไหมผ่าน 1 ห่วง (ได้โซ่ 1) โดยการปลดห่วงของหลักแรกในทุกแถว เราจะเกี่ยวไหมผ่านแค่ 1 ห่วง หลักอื่น ๆ ที่เหลือจะเกี่ยวไหมผ่านทีละ 2 ห่วงค่ะ การถักอัฟกันจะไม่มีการพลิกงานเหมือนโครเชต์หรือนิตติ้ง แต่จะถักที่ด้านถูกตลอดทั้งชิ้นงานค่ะ ผังลายของอัฟกันนิต มีลักษณะดังนี้ค่ะ จะเห็นได้ว่าใน 1 แถวประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ขั้นตอนเกี่ยวไหมใส่เข็ม ซึ่งแทนด้วยเส้นขีดแนวตั้ง และขั้นตอนปลดห่วงแทนด้วยตัวหนอน วิธีปลดห่วงเมื่องานเสร็จ หรือการถักเลื่อนห่วง (Slip Stitch Bind Off) เมื่อถักได้ชิ้นงานขนาดตามต้องการ เรามาจะปลดห่วงเพื่อจบงาน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมือนกับการถักเลื่อนห่วงในโครเชต์ค่ะ แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นที่สอง, เกี่ยวไหมผ่านสองห่วง เหลือ 1 ห่วงบนเข็ม แทงเข็มใต้เส้นไหมแนวตั้งเส้นเส้นถัดไป, เกี่ยวไหมผ่านสองห่วง เหลือ 1 ห่วงบนเข็ม ทำซ้ำทั้งแถว ที่หลักสุดท้าย ก็เหมือนเดิมค่ะ จะแทงเข็มใต้ไหม 1 หรือ 2 เส้นก็ได้ ตัดไหม และดึงไหมผ่านห่วงสุดท้าย ลายถักนี้ อาจทำเป็นที่รองแก้วน้ำ ที่รองจาน ผ้าพันคอ หรือปลอกหมอนก็ได้ค่ะ ชิ้นงานง่าย ๆ จากลายอัฟกันนิต หลังจากที่เราถักอัฟกันลายแรกเป็นกันแล้ว มาลองทำชิ้นงานง่าย ๆ เป็นที่รองแก้วน้ำจากลายนิตกันค่ะ เริ่มด้วยถักโซ่จำนวน 14 โซ่ ถักลายนิตทั้งหมด 11 แถว หลังจากปลดห่วงทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็จะเก็บปลายไหมไว้หลังชิ้นงานค่ะ ถักโครเชต์ลายเลื่อนห่วงรอบชิ้นงานด้วยไหมพรมสีขาวค่ะ จะใช้เข็มอัฟกันหรือเข็มโครเชต์ถักก็ได้ค่ะ โดยบีเลือกใช้เข็มโครเชต์เบอร์ 7/0 ค่ะ ต่อไหมสีขาวที่มุมหนึ่งของชิ้นงาน แล้วถักเลื่อนห่วงในทุกหลัก ที่มุมถักโซ่ 1, แล้วถักเลื่อนห่วงที่ด้านข้างของทุกแถว ที่มุมถักโซ่ 1, แล้วถักเลื่อนห่วงในทุกหลัก ที่มุมถักโซ่ 1, แล้วถักเลื่อนห่วงที่ด้านข้างของทุกแถว ตัดไหม แล้วแทงเข็มใต้เลื่อนห่วงแรก และแทงเข็มที่กลางตัวเลื่อนห่วงสุดท้าย จากนั้นเก็บไหมไว้ด้านหลังชิ้นงานค่ะ งานถักอัฟกันจะออกมาโค้งงอแบบนี้เป็นปกติค่ะ เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการบล็อคงาน คือ ขึงชิ้นงานให้ตึง แล้วใช้เตารีดไอน้ำ ถือเหนือชิ้นงานประมาณ 1 cm จนชิ้นงานเปียกไอน้ำจนทั่ว แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นจึงเอาเข็มหมุดที่กลัดยึดชิ้นงานออก งานที่ได้ก็จะเรียบตรงขึ้นค่ะ คลิปวีดีโอสาธิตวิธีจับเข็ม จับไหม และวิธีถักอัฟกันนิต สำหรับผู้ถนัดมือขวา คลิปวีดีโอสาธิตวิธีจับเข็ม จับไหม และวิธีถักอัฟกันนิต สำหรับผู้ถนัดมือซ้าย หวังว่าเพื่อน ๆ จะสนุกกับการถักอัฟกัน พบกันใหม่ในบทเรียนต่อไป อัฟกัน...ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • บทที่ 1 เตรียมตัวหัดถักตุ๊กตาไหมพรม

    จากที่เราได้ทำความรู้จักกับงานถักฝีมือยอดนิยมอย่างโครเชต์กันไปแล้ว วันนี้บีขอชวนเพื่อน ๆ มาทำควรรู้จักกับงานถักโครเชต์ประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า Amigurumi แค่ฟังจากชื่อก็รู้แล้วใช่มั้ยคะว่ามีที่มาจากญี่ปุ่น Amigurumi เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมาได้ประมาณ 10 ปีค่ะ (ตั้งแต่ปี 2003) เป็นคำผสมระหว่าง Ami ที่หมายถึงงานถักทั้งโครเชต์และนิตติ้ง กับคำว่า Nuigurumi ที่หมายถึง ตุ๊กตายัดไส้ รวมกันก็คือตุ๊กตาถักโครเชต์หรือนิตติ้งที่ต้องยัดใย แต่โดยทั่วไปหมายถึงตุ๊กตาถักโครเชต์ค่ะ ขั้นตอนในการทำ เราก็จะถักส่วนต่าง ๆ ของตุ๊กตาด้วยลาย X V A เป็นหลัก ถักวนต่อกันจนเป็นรูปทรงที่ต้องการ แล้วยัดไส้ด้วยใยต่าง ๆ อย่างโพลีเอสเตอร์ แล้วจึงนำแต่ละส่วนมาเย็บประกอบร่างกันเป็นตุ๊กตาโครเชต์ค่ะ อุปกรณ์สำหรับหัดถักตุ๊กตา 1. ไหมพรม (Yarn) ควรเลือกไหมพรม 4 ply เพราะเป็นไหมพรมขนาดกลาง ๆ ที่เหมาะต่อการเริ่มหัดถัก ควรเลือกสีสว่างหน่อยจะได้ง่ายต่อการนับหลักค่ะ 2. เข็มโครเชต์ (Hook) ควรเลือกเข็มโครเชต์ขนาดเล็กกว่าที่ป้ายไหมพรมกำหนดไว้ค่ะ เพราะงานถักตุ๊กตาต้องการความแน่นของงาน เพื่อหลีกเลี่ยงช่องว่างของลายตอนที่เรายัดใยในตุ๊กตาค่ะ หรือ เลือกตามที่แพทเทิร์นกำหนดนั่นเองค่ะ 3. ใยโพลีเอสเตอร์ (Polyester fiberfill) มีไว้สำหรับยัดไส้ส่วนต่าง ๆ ของตุ๊กตาค่ะ 4. ตา จมูก ลูกปัด กระดุม สำหรับตกแต่งหน้าตาของตุ๊กตา เลือกตามที่แพทเทิร์นกำหนด หรือ ตามความชอบได้เลยค่ะ 5.อุปกรณ์เย็บปักถักร้อยอื่น ๆ เช่น เข็มสอย เข็มเย็บไหมพรม กรรไกร สายวัด เข็มกลัดไหมพรม เข็มหมุด เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วมาสนุกกับการถัก Amigurumi ในบทต่อไปกันค่ะ โครเชต์.....ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • บทที่ 2 เข็มโครเชต์และวิธีจับ

    ก่อนที่จะพูดถึงวิธีจับเข็ม เรามาเริ่มทำความรู้จักกับเข็มโครเชต์กันก่อน ว่าแต่ละส่วนเรียกว่าอะไรกันบ้างดีกว่า โดยสามารถดูชื่อเรียกแต่ละส่วนได้ตามภาพนี้ค่ะ Note ที่วางนิ้วโป้ง (Thumb rest) เป็นตำแหน่งที่เราควรจับเข็มโครเชต์ค่ะ หากจับเข็มตรงก้าน จะทำให้ไม่ถนัดมือและปวดนิ้วได้ง่ายค่ะ ขนาดของเข็มวัดที่ตำแหน่งก้าน (Shaft) โดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นมิลลิเมตร เข็มโครเชต์ของแต่ละประเทศจะมีวิธีเรียกขนาดของเข็มโครเชต์ต่างกัน โดยของไทยเราใช้ระบบเดียกับประเทศญี่ปุ่นค่ะ การเลือกเข็มโครเชต์นั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของไหมพรมค่ะ โดยไหมพรมเส้นใหญ่ก็ควรใช้เข็มโครเชต์ขนาดใหญ่ ไหมพรมเส้นเล็กก็ควรเลือกเข็มโครเชต์ขนาดเล็ก โดยเลือกตามขนาดเข็มโครเชต์แนะนำตามในฉลากสินค้า หรือเลือกตามที่แพทเทิร์นกำหนด วิธีจับเข็มโครเชต์ การจับเข็มโครเชต์นั้น มีอยู่หลายแบบด้วยกัน ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน ไม่มีถูกผิดค่ะ วันนี้บีขอแนะนำการจับเข็ม 2 แบบ โดยจับเข็มด้วยมือที่ถนัดนะคะ 1. จับแบบมีด (Knife method or over-the-hook method) เป็นวิธีจับเข็มโครเชต์แบบเดียวกับที่เราจับมีดบนโต๊ะอาหาร โดยให้นิ้วโป้งและนิ้วชี้อยู่ตรงตำแหน่งที่วางนิ้วโป้ง (Thumb rest) นิ้วที่เหลือประคองเข็ม และให้ด้ามจับ (handle) สัมผัสกับฝ่ามือค่ะ 2.จับแบบส้อมหรือจับแบบดินสอ (fork method or under-the-hook-method) วิธีนี้เราจะจับเข็มโครเชต์เหมือนกับการจับส้อม โดยให้นิ้วโป้งและนิ้วชี้อยู่ตรงตำแหน่งที่วางนิ้วโป้ง (Thumb rest) นิ้วกลางวางตรงก้านเข็ม(Shaft) และให้ด้ามจับอยู่บนพื้นที่ว่างระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ค่ะ คลิปวีดีโอสาธิตวิธีจับเข็มโครเชต์ บทเรียนต่อไป เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีจับไหมพรมสำหรับถักโครเชต์ค่ะ โครเชต์.....ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

  • Lesson 1 บทนำและการเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเริ่มต้นถักโครเชต์

    โครเชต์คืออะไร ในชั่วโมงแรกของวิชาไหน ๆ ต่างก็เริ่มต้นด้วยบทนิยามหรือความหมายของวิชานั้น ๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมา งั้นบทเรียนแรกของห้องเรียนโครเช์ ก็มาเริ่มจากตรงนี้กันค่ะ โครเชต์ คือ งานฝีมือประเภทหนึ่ง ที่สร้างสรรค์ชิ้นงานจากการใช้ เข็มโครเชต์ถักกับไหมพรม เชือก เส้นด้าย หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ให้เป็นห่วงโซ่ถักคล้องกันไปเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ประวัติศาสตร์โครเชต์เริ่มต้นมายาวนานแล้วล่ะค่ะ แต่ขออนุญาตไม่เขียนไว้ในหน้านี้นะคะเดี๋ยวเพื่อน ๆ จะพากันหนีหายไปหมด แต่สำหรับใครที่สนใจ เชิญอ่านบทความ History of crochet โดย Ruthie Marks ได้เลยค่ะ บีว่าโครเชต์เป็นงานฝีมือที่มีเสน่ห์เอามาก ๆ เลยล่ะคะ เป็นงานที่มีความอิสระ เราสามารถออกแบบชิ้นงานได้หลากหลายไม่มีวันจบสิ้น ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งตุ๊กตาถัก และทุกครั้งที่บีถักโครเชต์เสร็จ ก็จะทึ่งทุกครั้ง เหมือนมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ไหมพรมเส้นยาว ๆ ได้กลายร่างมาเป็นงานชิ้นสวย ๆ ได้ด้วย ถึงแม้บางชิ้นจะใช้เวลาคลุกอยู่นาน แต่พอทำเสร็จก็แฮปปี้ทุกครั้ง อดภูมิใจไม่ได้ว่าเราก็เป็นผู้สร้างสรรค์กับเขาได้เหมือนกันนะ ∧_∧ อุปกรณ์สำหรับมือใหม่หัดถัก ใครก็ตามที่ได้แวะเวียนเข้าไปในร้านไหมพรม ก็คงเห็นว่าอุปกรณ์สำหรับงานโครเชต์ มีอยู่มากมาย จนอาจกังวลไม่รู้ว่าต้อง เตรียมอะไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วแค่ เข็มโครเชต์ ไหมพรม กรรไกร และเข็มเย็บไหมพรม ก็เพียงพอแล้วค่ะ สำหรับการเริ่มหัดถัก 1. เข็มโครเชต์ (Crochet Hook) เข็มโครเชต์มีอยู่ด้วยกันหลายขนาด ทำจากวัสดุที่หลากหลาย มีทั้งแบบมีหัวเข็ม 2 ข้างและแบบมีหัวเข็มข้างเดียว โดยเข็มแต่ละขนาดจะเหมาะกับงานที่แตกต่างกันไป และขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน สำหรับบีแนะนำให้เริ่มต้นด้วยเข็มขนาดใหญ่ ไซส์ 4/0, 5/0 , 6/0 หรือไม่ก็ 7/0 เพราะจะได้ลายขนาดใหญ่ที่ง่ายต่อการนับหลักค่ะ 2. ไหมพรม (Yarn) ควรเลือกใช้ไหมอะคลิลิก เพราะราคาถูกค่ะ หรือใครกระเป๋าหนักจะใช้ไหมพรมธรรมชาติ อย่างคอตต้อน หรือขนสัตว์ก็ตามสะดวกค่ะ โดยเลือกสีพื้นสีสดใสขนาดเส้นใหญ่ (สีเดียว) 4 ply ขึ้นไป ไม่ควรเลือกไหมสีเหลือบ (มีหลายสีในหนึ่งม้วน) เพราะมันดูลายได้ยากค่ะ สีเข้มพวกดำ เทา น้ำตาล เลี่ยงไปก่อนดีกว่าคะ เดี๋ยวจะตาลายกับการนับหลักเอาได้ 3. กรรไกร (A Pair of scissors) กรรไกรที่เหมาะต่องานโครเชต์นั้น ควรเป็นกรรไกรเล็กที่มีปลายแหลมค่ะ 4. เข็มสอดไหมพรม หรือ เข็มเย็บไหมพรม เป็นเข็มที่ปลายมนไม่แหลม จะได้ไม่ทิ่มนิ้วเรา เวลาเก็บปลายไหมค่ะ อุปกรณ์แค่ 4 ชิ้นนี้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มถักโครเชต์แล้วละค่ะ สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ นั้นเอาไว้ทำความรู้จักในโอกาสต่อไป คลิปวีดีโอแนะนำอุปกรณ์งานฝีมือเบื้องต้น บทเรียนต่อไป เราจะได้ทำความรู้จักกับเข็มโครเชต์และวิธีจับเข็มค่ะ โครเชต์.....ใคร ๆ ก็ทำได้ สวัสดีค่ะ

bottom of page